เทคนิค (ไม่) ลับในการเขียนเรื่องสั้น

สาระเพื่อนักเขียน

สำหรับการเขียนเรื่องสั้นนั้นถือเป็นสื่อกลางในการแสดงความคิดเห็นและแสดงจินตนาการได้เป็นอย่างดีสำหรับนักเขียนหลายๆท่าน เพราะมีใจความที่กระชับและเข้าใจง่ายอีกทั้งยังสอดแทรกคติสอนใจเอาไว้อย่างมากมายอีกด้วย เรามาลองทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันเลยดีกว่า

เข้าใจความหมายของ เรื่องสั้น

เป็นการเขียนเล่าเรื่องในรูปแบบหนึ่งและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเขียนให้ออกมาได้ดี เพราะคำว่า “เรื่องสั้น” แน่นอนว่าชื่อก็บอกอยู่ตรงตัวอยู่แล้วการเขียนแบบนี้นั้นย่อมมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องสั้นที่ดีนั้นจะมี 1,000 – 5,000 คำ เป็นอย่างมาก

  • ลักษณะของเรื่องสั้นที่ดี
  • เรื่องสั้นที่ดีนั้นเมื่ออ่านเสร็จจนจบเรื่องราวจะต้องสมบูรณ์ในตัวของมันเอง
  • ใช้เวลาอ่านแค่เพียงชั่วครู่
  • ทุกประโยคในเรื่องจะต้องได้ใจความสำคัญและส่งผลกระทบต่อเรื่องราว
  • ประโยคเริ่มต้นรวมไปถึงชื่อเรื่องนั้นต้องบ่งบอกถึงตัวอย่างเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง
  • มีตัวละครเท่าที่จำเป็นและสามารถเข้าใจได้ง่าย
  • ทุกอย่างต้องจบ ลงตัว และสมบูรณ์ เมื่อถึงบรรทัดสุดท้าย

ทำความเข้าใจชนิดของการแต่งเรื่องสั้น

  • ชนิดผูกเรื่อง การเขียนชนิดนี้คือการเขียนที่ต้องอาศัยความซับซ้อน มีเหตุการณ์ต่างๆที่น่าสงสัยโดยการใช้พล็อตเรื่องที่วางไว้เป็นตัวดำเนินเรื่องราวต่างๆ สามารถทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจชวนติดตามและมักจะจบลงในลักษณะที่คาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว

การเขียนเรื่องราวเช่นนี้นักเขียนจะนำแรงบันดาลใจมาจาก เหตุการณ์ สถานการณ์ เรื่องราวพื้นถิ่น หรือแม้กระทั่งข่าวคราวต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา

  • ชนิดเพ่งไปที่ตัวละคร ตามชื่อเลยนั่นก็คือการมุ่งเน้นความสนใจและความโดดเด่นไปที่การนำเสนอเรื่องราวของตัวละครนั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วเรื่องราวชนิดนี้จะเป็นการนำเสนอถึงความต้องการของตัวละครมักจะเกี่ยวข้องกับความต้องการ ความขัดแย้ง อุปสรรค และการตัดสินใจรับมือแก้ไขสถานการณ์ต่างๆของตัวละคร ทำให้ผู้อ่านมุ่งเน้นความสนใจไปที่ตัวละครว่าจะได้รับผลกระทบอย่างไรและตอนจบของเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไรนั่นเอง
  • มุ่งเน้นฉากและสถานที่ การเขียนเรื่องราวชนิดนี้จะมุ่งเน้นไปที่การบรรยายถึงสถานที่ บรรยากาศ และช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ อาจเป็นการบรรยายที่เหนือจริงและแปลกใหม่แตกต่างออกไปจากความเป็นจริงหรือที่ตัวละครเคยพบเห็น สถานที่นั้นจะต้องให้ความรู้สึกที่แตกต่างและส่งผลกระทบต่อตัวละคร การเขียนเช่นนี้เป็นการบรรยายที่ทำให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการและมีอารมณ์ร่วมไปกับการอ่านได้ดีอีกด้วย
  • การเขียนแสดงแนวคิด ในการเขียนเช่นนี้นักเขียนจะแต่งเรื่องสั้นขึ้นมาเพื่อมุ่งเน้นการนำเสนอแนวคิดของตนเองในรูปแบบของการเขียนเรื่องสั้นซึ่งเป็นสื่อกลางในการแสดงความคิดเห็นแทนการวิจารณ์โดยตรง ยิ่งถ้าหากเป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมและกำลังเป็นกระแสอยู่ในสังคมขณะนั้น ย่อมได้รับความนิยมเป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ประเภทของการเขียนเรื่องสั้นนั้นสามารถเขียนได้ทุกแนวที่ผู้เขียนให้ความสนใจ เช่นเดียวกับการเขียนนิยาย ตัวอย่างเช่น เรื่องรัก เรื่องลึกลับ วิทยาศาสตร์ แฟนตาซี การประชดประชันเสียดสีสังคม และเรื่องราวแง่คิดต่างๆอีกมากมาย

องค์ประกอบของการเขียนเรื่องสั้น

เพื่อทำให้เรื่องสั้นของคุณสมบูรณ์แบบ ต้องประกอบไปด้วย 6 หลักดังนี้

  • Plot พล็อตเรื่อง ทิศทางในการดำเนินเรื่องราว
  • Character หรือตัวละครที่จะเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่องราวหรือสถานการณ์ต่างๆ
  • Setting ฉากหรือสถานที่ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในเหตุการณ์ภายในเรื่องราว
  • Point of view มุมมองต่างๆที่จะทำให้เรื่องราวดำเนินไปและยังสร้างความเข้าใจต่อผู้อ่าน
  • Theme แสดงแก่นเรื่องที่ต้องการจะนำเสนอ

ก่อนที่คุณจะเริ่มเขียนเรื่องสั้น

ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นงานเขียนของคุณนั้นแน่นอนว่าคุณจะต้องพอมีข้อมูลสำหรับไอเดียงานเขียนอยู่แล้วบ้าง หากเช่นนั้นแล้วนำมาขัดเกลาให้อยู่ในหลัก 6 อย่างนี้ แล้วมาเริ่มงานเขียนของคุณกันเลยดีกว่า

  1. Theme คุณจะต้องมีสิ่งนี้ก่อนเลยเป็นอันดับแรกเพราะนี่หมายถึงสิ่งที่เรื่องราวของคุณต้องการจะสื่อบางสิ่งบางอย่างว่าเรื่องราวของคุณจะไปในทิศทางไหน ซึ่งผู้อ่านจะสามารถรับรู้ได้จากสิ่งที่คุณเขียนออกมานั่นเอง
  2. Plot ในงานเขียนนั้นคุณจะมีสิ่งนี้นั่นก็คือพล็อตเรื่อง เพื่อให้คนอ่านเกิดความสนใจในเรื่องราว อาจจะเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอดของตัวละคร รวมไปถึงการต่อสู้กับจิตใจของตนเอง และการสร้างความขัดแย้งขึ้นนั้นจะนำเรื่องราวไปสู่ตอนสำคัญจนเรื่องราวดำเนินมาถึงที่สิ้นสุด
  3. โครงสร้างของเรื่อง การเขียนที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีนั้นนั่นก็คือการนำตัวคุณเองเข้าไปอยู่ในบทบาทของเรื่องราวซะเลย สื่อสารให้ชัดเจนกับผู้อ่านว่าเรื่องราวนี้เป็นเรื่องของใคร ทำอะไร ที่ไหน และเหตุการณ์บทสรุปเป็นเช่นไร
  4. สร้างจุดเด่นของตัวละคร ยิ่งคุณสร้างความโดดเด่นและความน่าสนใจให้ตัวละครได้มากเท่าไหร่ยิ่งทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมในเรื่องราวและอยากติดตามเรื่องราวมากขึ้นอีกด้วย
  5. สถานที่และเหตุการณ์ สิ่งนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการเล่าเรื่อง ควรสื่อสารให้ชัดเจนว่าเรื่องราวเกิดขึ้นที่ไหนและเกิดขึ้นเมื่อไหร่ตามความเหมาะสมของเรื่องเพื่อให้เกิดความสมเหตุและผลอีกทั้งยังสร้างความน่าสนใจเป็นอย่างมาก
  6. บทพูดก็สำคัญ ในการเขียนเรื่องราวคุณควรใช้บทพูดที่สื่อความหมายชัดเจน ลึกซึ้ง และเร้าใจ แสดงออกถึงตัวตนของตัวละครได้ออกมาชัดเจนและเหมาะสม
  7. อย่ามองข้ามการเล่าเรื่องและการบรรยาย อย่าลืมเป็นอันขาดว่าการเขียนเรื่องสั้นนั้นมีการจำกัดความยาวของเรื่อง เพราะฉะนั้นอย่าอ้อมค้อมควรบอกแต่สิ่งที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินเรื่อง อะไรที่ไม่จำเป็นและไม่ได้ส่งเสริมเนื้อเรื่องให้ตัดออกไปได้เลย
  8. แสดงจุดขัดแย้งแค่เพียงเรื่องเดียว ในการเขียนเรื่องสั้นนั้นจะให้ดีควรมุ่งประเด็นไปที่ความขัดแย้งเพียงเรื่องเดียวเพื่อให้คนอ่านไม่เกิดความสับสนและสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายจนสุดท้ายทุกอย่างจะจบได้ในตัวของมันเอง

มาเริ่มสร้างเรื่องสั้นอย่างง่ายๆกันเลยดีกว่า

  • เริ่มจากการหาตัวละครหรือสร้างตัวละครที่คุณสนใจขึ้นมา
  • ใส่บทบาทความต้องการบางอย่างให้กับตัวละครเพื่อเชื่อมโยงต่อสถานการณ์ต่างๆภายในเรื่องราว
  • เพิ่มเติมสีสันของเรื่องราวด้วยการเพิ่มอุปสรรคหรือปัญหาที่จะเข้ามาขัดขวางความต้องการของตัวละคร
  • บีบคั้นให้สถานการณ์มีความยากลำบากหรือมีความผิดพลาดมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มความท้าทายให้กับตัวละครและเรื่องราวของคุณ
  • นำตัวละครออกมาจากสถานการณ์นั้นด้วยความสามารถและวิธีรับมือแก้ไขปัญหาเฉพาะตัวของตัวละคร

ยกตัวอย่างเช่น

  • สมมติเหตุการณ์โดยการสร้างตัวละคร A ขึ้นมาให้น่าสนใจและมีบุคลิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  • พลิกสถานการณ์ในการใช้ชีวิตของตัวละครให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เช่นอาจจะเกิดเหตุการณ์ หย่าร้าง ตกงาน หรือตามแต่คุณจะสร้างสถานการณ์ขึ้นมา
  • จำกัดเวลาในการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความลุ้นระทึก ตื่นเต้น และน่าติดตาม
  • สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมีผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของตัวละครเป็นอย่างมากเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงความรู้สึกของตัวละคร
  • ต่อมาสร้างตัวละคร B ที่มีบุคลิกและลักษณะนิสัยที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
  • สร้างความรู้สึกตื่นเต้น ลุ้นระทึกเพื่อชวนให้ผู้อ่านเกิดความน่าติดตาม อาจเป็นสถานการณ์ที่ตัวละครรับรู้เหตุการณ์อยู่บ้างแล้วแต่ผู้อ่านยังไม่รับรู้โดยตรง
  • สร้างความต้องการที่แตกต่างกันของตัวละครเพื่อให้เกิดสถานการณ์ขัดแย้ง สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้อ่าน
  • สร้างสถานการณ์ให้ตัวละครหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน
  • เหตุการณ์ต่างๆเริ่มเลวร้ายลงในเวลาที่มีอย่างจำกัดเพื่อเพิ่มความกดดัน จนตัวละครจะต้องตัดสินใจ
  • ทำให้ผู้อ่านผิดความคาดหมายด้วยการสร้างจุดจบที่บิดเบือนไม่เป็นไปตามที่ผู้อ่านคาดเดา

คำแนะนำสำหรับมือใหม่หัดเขียน

  1. ให้ความสำคัญกับขนาดที่จำกัดสำหรับรูปแบบของการเขียนเรื่องสั้น ไม่ควรอธิบายรายละเอียดที่มากเกินความจำเป็นหลีกเลี่ยงเนื้อเรื่องพล็อตย่อย
  2. เปิดเรื่องด้วยสถานการณ์ที่ไม่ตายตัวซ้ำซากและไม่แน่นอนตายตัวว่าเป็นการบรรยายถึงเรื่องราวหรือเป็นการสังเกตเหตุการณ์อยู่ ณ ขณะนั้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจแก่เรื่องราว
  3. ดึงดูดความสนใจด้วยการเริ่มเรื่องที่แปลกใหม่ กระตุ้นเหตุการณ์ ชักจูงผู้อ่านไปสู่ความเข้มข้นในต่อๆไป
  4. การดิ้นรนและการต่อสู้ของตัวละครเอกมีผลต่อผู้อ่านเป็นอย่างมาก
  5. เรื่องสั้นจะต้องนำผู้อ่านดำเนินเรื่องไปพร้อมๆกับตัวละครเพื่อให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อชักจูงความสนใจของผู้อ่านนั่นเอง
  6. เรื่องสั้นควรจะนำเสนอมุมมองของคนๆเดียวเพราะภายในเวลาที่จำกัดนั้นจะไม่ทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยและไม่เข้าใจในเรื่องราว
  7. หลีกเลี่ยงความยืดเยื้อเกินความจำเป็น ทุกอย่างจะต้องนำเรื่องราวเข้าสู่ประเด็นหลักของพล็อตเรื่อง
  8. ต้องสร้างสถานการณ์ให้ตัวละครดิ้นรนตัวรอดท่ามกลางความเลวร้ายเช่นเดียวกับการแต่งเรื่องประเภทอื่น
  9. สร้างตัวละครให้มีข้อบกพร่อง อ่อนแอ และมีจุดจบที่คาดไม่ถึง
  10. ขัดเกลาความคิดของคุณเกี่ยวกับบทพูดรวมไปถึงบทบาทของตัวละคร เผยเหตุการณ์นั้นในสถานการณ์และเวลาที่เหมาะสมตามความเป็นจริง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความตื่นเต้นร่วมด้วยไปกับตัวละคร
  11. อย่ายืดเยื้อในตอนจบ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนและเผยสถานการณ์ในตอนจบออกมาให้ทุกอย่างกระจ่างและผู้อ่านเกิดความเข้าใจไม่มีความคิดสงสัยที่ค้างคา เหลือไว้เพียงแต่คติสอนใจที่จะทิ้งไว้ในใจของผู้อ่าน แค่นี้ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบอย่างมากสำหรับการเริ่มต้นการเขียนเรื่องสั้นของคุณ

เคล็ด ( ไม่ ) ลับ เมื่อจะเขียนเรื่องสั้น

  • ด้วยเนื้อหาที่จำกัดฉะนั้นแล้วควรมีตัวละครในเรื่องให้น้อยที่สุด
  • ร่างรายการคร่าวๆออกมาถึงตัวละครและสิ่งที่คุณอยากจะให้เกิดขึ้น
  • ในเรื่องราวการเขียนของคุณ ควรเตรียมย่อหน้าที่จะนำเสนอฉากและสถานที่เพื่อแนะนำตัวละครให้กับผู้อ่านรู้จัก
  • การเปิดเรื่องของคุณจะต้องแปลกใหม่และมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้อ่านเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ
  • อย่าลืมเด็ดขาดว่าหัวใจหลักในเรื่องของคุณคืออะไร เกี่ยวกับอะไรและมุ่งเข้าสู่ประเด็นนั้นทันที อย่ามัวเสียเวลากับการบรรยายบางอย่างที่ไม่จำเป็น
  • บทสรุปสุดท้ายจะต้องตอบข้อสงสัยที่คุณได้เปิดประเด็นไว้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน
  • คุณอาจจะสร้างความประทับใจด้วยการหักมุมในตอนจบเพื่อสร้างสิ่งที่คาดไม่ถึงให้กับผู้อ่าน
  • สิ่งสุดท้ายนี้สำคัญสำหรับการเขียนเรื่องสั้นเป็นอย่างมาก อย่าลืมเขียนให้ตรงประเด็นและเรียบง่ายที่สุด