เทคนิคการมีหนังสือเป็นเล่มในชื่อตัวเอง

สาระเพื่อนักเขียน

ลองมองหาสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราเอง

  1. ถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงอยากเขียนหนังสือเล่มนี้ เพราะสิ่งนี้แหละที่มันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราสามารถผ่านการทำงานหนัก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ คือการเขียนหนังสืออ่ะ มันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าถามว่ามันหนักไหม ตอบได้เลยว่าหนัก
  2. อยากเขียนหนังสือแนวไหน เราอยากเขียนหนังสือท่องเที่ยว หรือว่าอยากเขียนแบบวิชาการ หนังสือรวมบทกลอน ธรรมะ ธุรกิจ หนังสือHow to หรือว่าหนังสือแนวอื่น ๆ
  3. ทำไมถึงเลือกจะเขียนแนวนี้ เราเขียนแนวนี้เพราะเราชอบ เป็นความถนัดของเรา เป็นสิ่งที่เรารู้และเข้าใจมันเป็นอย่างดี อยากจะแชร์มันให้คนอื่นได้รู้บ้าง หรือเขียนเพราะคิดว่า แนวนี้แหละเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตอนนี้ และน่าจะขายได้ หรือว่าอาจจะมีเหตุผลอื่น ๆอีก
  4. พอจะมีไอเดียเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนแล้วรึยัง อันนี้ถ้ามีแล้วก็ดีไป แต่ถ้าใครที่ยังไม่มีเดียอะไรก็อย่าไปเครียด เราสามารถไปหาไอเดียเหล่านั้นได้อยู่แล้ว
  5. ขยายไอเดียที่เรามี ถ้าเป็นคนที่มีไอเดียอยู่แล้ว เราก็ต้องขยายไอเดียของเราออกมาให้ได้มากที่สุด คิดอะไรได้เขียนออกมาให้หมด แล้วก็เอาไปประยุกต์ต่อ
  6. เราอยากให้หนังสืออารมณ์ไหน เช่น อยากทำหนังสือวิชาการ แต่ไม่อยากให้คนอ่านเครียดมากเกินไป เราก็สามารถทำให้หนังสือวิชาการมีอารมณ์ขันได้เหมือนกัน

เดินดูตลาด

เราต้องลองเดินไปที่ร้านหนังสือ ห้องสมุด หรือที่ที่มันมีหนังสือเยอะ ๆแล้วดูว่ามันพอจะมีหนังสือในแนวที่เราจะเขียนไหม ถ้ามีเราก็ต้องอ่าน เพื่อศึกษาดูว่าเค้าเขียนออกมายังไง เราที่เป็นคนอ่านพอใจกับมันไหม แล้วสิ่งที่เราคิดจะเขียนหละ มันต่างจากที่หนังสือพวกนั้นเขียนไว้รึเปล่า ถ้าทำหนังสือบ้างอยากเพิ่มไอเดียสอดแทรกใส่ตรงไหนให้มันแตกต่างไปจากนี้  ถ้าเราคิดจะเขียนหนังสือแบบจริง ๆจัง ๆ ก็ไม่ต้องมัวแต่ไปนั่งคิดว่า โอ้ยเรื่องแนวนี้มันมีคนเขียนแล้ว ไม่เขียนดีกว่า คือถึงเค้าจะเขียนแนวที่เราจะเขียนออกมาแล้ว แต่เค้าไม่ใช่เรา เขียนยังไงมันก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี

วางเค้าโครงของหนังสือ

  1. ตั้งเป้าหมาย และจุดประสงค์ของหนังสือ ตัวเราที่เป็นคนเขียนจะต้องรู้ก่อนว่าหนังสือเล่นนี้เขียนขึ้นมาเพื่ออะไร คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ควรจะได้อะไรจากมันบ้าง
  2. ลิสต์หัวข้อของหนังสือ เขียนออกมาว่าจะมีหัวข้ออะไรอยู่ในหนังสือบ้าง แล้วแต่ละหัวข้อมันสอดคล้อง และสนันสนุนวัตถุประสงค์ของหนังสือเรารึเปล่า
  3. เรียงลำดับเรื่องที่จะเขียน การเรียงลำดับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในหนังสือวิชาการ เราต้องเอาสิ่งที่คนอ่านต้องรู้ก่อนมาไว้ด้านหน้า เพราะถ้าคนอ่านรู้ในสิ่งนี้แล้วก็จะเข้าใจเนื้อหาถัดไป ไม่งง
  4. แบ่งบท แบ่งเนื้อหาเป็นบท ๆ ใส่ชื่อประจำบท แล้วก็ควรมีหัวข้อของเนื้อหาในแต่ละบทด้วย
  5. ตรวจสอบหัวข้อของเนื้อหาในแต่ละบท ขั้นตอนนี้เราต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวเราเองเข้าใจในสิ่งที่ต้องเขียนลงไปในหนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มแล้ว

การหาข้อมูลเพิ่มเติม

การหาข้อมูลมาสนับสนุนความคิดของเราในหนังสือ จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้หนังสือได้ และตัวเราเองก็ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมในสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือไม่มั่นใจ จนสามารถเข้าใจ และอธิบายลงไปในหนังสือได้

ลงมือเขียน

  1. เลือกรูปแบบการเขียน เลือกว่าจะเขียนในรูปแบบของการถามตอบ จดหมายเดินทาง บันทึกการเดินทาง จะแต่งเป็นเรื่องราว หรือว่าจะบรรยายไปทีละเรื่อง ทีละบท
  2. จัดเวลาในการเขียน ควรเขียนอย่างต่อเนื่อง เช่น เขียนทุกวัน
  3. ไม่ต้องเขียนเรียงบท เราสามารถเลือกได้ว่าจะเขียนบทไหนก่อน จะเขียนบทสุดท้ายก่อนก็ยังได้

ตรวจแก้ต้นฉบับแรก

  1. อ่านด้วยตัวเอง พออ่านจบแล้ว ถามตัวเองว่าเข้าในใจไหม พอใจในสิ่งที่เขียนไปรึยัง ที่จริงคนอ่านกับเราอ่านก็ไม่ได้ต่างกันมาก เพราะฉะนั้นปรับให้ดี เอาจนกว่าเราจะพอใจ
  2. เกลาเนื้อหา สิ่งที่เราเขียนไปควรเพิ่ม หรือตัดตรงไหนบ้าง
  3. ความถูกต้องของตัวสะกด
  4. ความถูกต้องของข้อมูล ตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลในหนังสือถูกต้องแล้วจริง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นตัวเลข
  5. ให้คนที่ไว้ใจช่วยอ่านงาน หาคนที่ไว้ใจได้มาอ่านงานที่เราเขียนเสร็จ แล้วดูว่าเค้าอ่านเข้าใจไหม เขาดูพอใจกับหนังสือของเรารึเปล่า ถ้าเขาอ่านแล้วพอใจ ก็เท่ากับเราทำสำเร็จไปแล้วเรื่องนึง

ตั้งชื่อหนังสือ

การตั้งชื่อเนี่ยเป็นส่วนที่สำคัญมากในการทำหนังสือ ถึงเราจะทำหนังสือออกมาดีแค่ไหน แต่ชื่อไม่ดึงดูด คนอ่านเค้าก็ไม่สนใจอยู่ดี โดยเฉพาะพวกหนังสือ How to เราต้องตั้งชื่อให้อ่านแล้วรู้สึกว่า ฉันต้องทำได้ ในเวลาไม่นานฉันต้องทำได้แน่นอน อะไรแบบนี้ ถ้าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็ควรจะตั้งให้มันดูหรูๆเข้าไว้หนังสือวิชาการเราก็สามารถตั้งชื่อให้ออกมาเร้าใจได้เหมือนกัน คือไม่ว่าจะเขียนหนังสือแบบไหนเราก็สามารถตั้งชื่อให้ออกมาดีได้หมดนั่นแหละ แค่อาจจะต้องใช้วิธีคิดแบบ free writing ในคิดชื่อหน่อย เราทำได้แน่นอน เขียนหนังสือจบมาเป็นเล่มขนาดนี้ แค่ชื่อหนังสือเด็ด ๆ ซักชื่อ ไม่ยากหรอก

การวางรูปแบบหน้าหนังสือ

  1. หน้าปก และการจัดหน้าภายใน
  2. รูปภาพประกอบ
  3. สี
  4. อื่น ๆ คือส่วนที่ไม่ใช่หน้าปก เราควรทำมันออกมาให้ดูมีระเบียบ เรียบง่าย ไม่ต้องมีสีสันฉูดฉาด หรือเอารูปภาพมาใส่ แล้วตกแต่งจนมันรกไปหมด

การนำสู่ตลาด

อันนี้อยู่ที่เราแล้วว่าเราอยากนำหนังสือเข้าตลาดด้วยวิธีไหน ไม่ว่าจะเป็น

ส่งสำนักพิมพ์ให้พิจารณาจัดพิมพ์ วิธีนี้กว่าทางสำนักพิมพ์จะตอบว่าจะพิมพ์รึเปล่า อาจจะใช้เวลานานหน่อย เพราะฉะนั้นถ้าใครต้องการส่งสำนักพิมพ์ เราควรเอาพล็อตเรื่องที่เราจะเขียนไปให้เค้าดูก่อนว่า เค้าสนใจจะพิมพ์งานของเราไหม จะได้รู้คำตอบตั้งแต่เนิ่น ๆ

พิมพ์หนังสือเอง วิธีนี้ต้องมีเงิน แต่มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการทำหนังสือด้วย เพราะถ้าไม่รู้อะไรแล้วไปพิมพ์หนังสือเองเลย มันก็จะทำให้หนังสือที่ออกมาไม่ใช่แบบที่เราต้องการ

ทำเป็นหนังสือ E-book  วิธีนี้กำลังมาแรงเลย เราสามารถฝากขายหนังสือเราตามเว็บไซด์ที่เค้ารับฝากได้ หรือว่าจะทำเว็บขึ้นมาใหม่เอาไว้ขาย E-book ที่ตัวเองเขียนโดยเฉพาะก็ได้

และทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นเทคนิคคร่าว ๆในการทำหนังสือ แต่เอาเข้าจริง การทำหนังสือเนี่ย มันไม่มีเทคนิค แล้วก็วิธีการตายตัวหรอก เพราะสไตล์ของคนทำแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดว่าอยากรู้อะไรเพิ่มเติม ก็ถามกันเข้ามาได้ แต่ถ้าไม่อยากรู้อะไรแล้ว จะรออะไรหละ ไปทำหนังสือของตัวเองได้เลย