Guestpost โฟสฟรี ถ้าคุณมีสาระดีๆ ที่นี่เราให้คุณได้แบ่งปัน

Notifications
Clear all

"กัญชาเสรี" บ้านละ 6 ต้น พืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ทั้งปี - ขายใบสดได้ตลอด

1 Posts
1 Users
0 Likes
596 Views
thanunchai
(@thanunchai)
Posts: 2530
Member Moderator Registered
Topic starter
 

 2021-04-10-162143

หลังการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและกัญชงได้แล้ว โดยต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไป ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อส่งช่อดอกส่วนที่ยังไม่ได้รับการปลดล็อกให้ นำไปใช้ทางการแพทย์ต่อไป

ซึ่งวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น ที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือ "โนนมาลัยโมเดล" อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ โดยนำช่อดอกส่งโรงพยาบาลทำยา และชิ้นส่วนต่างๆ นำมาทำอาหาร เครื่องสำอาง และแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้

หรือวิสาหกิจชุมชนเพชรลานนา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่ตัดช่อดอกให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วย และแปรรูปส่วนอื่นๆ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก มาเป็นผลิตภัณฑ์ นำมาปรุงอาหาร สร้างรายได้

ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโครงการวิจัยพัฒนากัญชาคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า คนทั่วไปจะปลูกกัญชาได้ จะต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน จากนั้นต้องขออนุญาตกับหน่วยงานที่รัฐอนุญาตให้ปลูก เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือหน่วยงานอื่น ที่มีลักษณะเดียวกัน โดยจะต้องทำหนังสือชี้แจงว่า จะนำไปใช้ส่วนใด ทางมหาวิทยาลัยฯ ก็จะออกเอกสารรับรองให้ แต่จะใช้ได้เฉพาะในร้านที่ขออนุญาตเท่านั้น ไม่สามารถนำไปขายต่อได้

ขณะที่ ช่อดอก ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้รับการปลดล็อก จะต้องส่งคืนให้หน่วยงานที่ได้รับการรับรอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น

ส่วนกรณีมีการกล่าวอ้างว่ากัญชาของไทยดีที่สุดในโลก ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร ระบุว่า คงไม่เป็นความจริง เนื่องจากหลายประเทศ ในยุโรป หรืออเมริกา มีการอนุญาตให้ปลูก “กัญชา” ก่อนประเทศไทย และสารสำคัญในกัญชาสายพันธุ์ไทย ก็ไม่ได้สูงเท่ากัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ รวมถึงการที่เป็นพืชผิดกฎหมายมานาน ดังนั้น จึงไม่มีหน่วยงานไหน ทำการวิจัยอย่างจริงจังว่า กัญชาสายพันธุ์ของไทยนั้น ดีที่สุดในโลกหรือไม่

ทั้งนี้ สายพันธุ์กัญชาหลักๆ ในบ้านเรา คือ หางกระรอก ฝอยทอง ตะนาวศรี กาญจนบุรี ซึ่งชื่อที่ตั้งก็มาจากท้องถิ่นนั้นๆ แต่การปลูกกัญชารวมๆ กันหลายสายพันธุ์ ก็ทำให้เกิดกัญชาพันธุ์ผสมได้

ขณะที่การปลูกต้องเริ่มจาก การขอใบอนุญาต จากนั้นจะเป็นการทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาต รวมถึงจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของโรงเรือน เพราะกัญชาต้องปลูกแบบไร้สารพิษ ถึงจะนำไปใช้ประโยชน์ทางยาได้ ซึ่ง MOU ที่ทำร่วมกันนั้น ทางมหาวิทยาลัย ก็จะจัดหา supply เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์การปลูกให้ แต่จะต้องแบ่งผลประโยชน์ให้กับทางมหาวิทยาลัยด้วย

อย่างไรก็ตาม กัญชา ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ทั้งปี ราคาใบสดตอนนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท ส่วนใบแห้ง อยู่ที่กิโลกรัมละ 5,000 บาท ซึ่งเงินลงทุนในการจะปลูกกัญชานั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงเรือน หากปลูก 50-100 ต้น อาจจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1-2 แสนบาท ซึ่งคุณสมบัติของโรงเรือนจะต้องมีแสงที่เล็ดลอดเข้ามาได้ และต้องป้องกันแมลง รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิได้

ซึ่งประโยชน์ของกัญชา ก็จะมีทั้งการนำไปทำอาหาร ใช้ทางการแพทย์ และเพื่อสันทนาการ ขณะที่เมล็ดก็มีน้ำมันโอเมก้า 3 ที่มีประโยชน์ สามารถส่งออกไปต่างประเทศไทย เรียกว่ามีประโยชน์ทุกส่วน ข้อเสียแทบจะไม่มี

ปลูก "กัญชาให้ได้คุณภาพ"

ดร.สุกัลยา สารพัฒน์ ผู้ช่วยวิจัยโครงการผลิตกัญชาคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับกัญชาที่ มทส. เราจะไม่ใช้ดินในการปลูก เนื่องจากในดินอาจจะมีค่าโลหะหนัก ดังนั้น เราจะใช้วัสดุอื่นทดแทน ซึ่งการปลูกจะมีด้วยกัน 2 วิธี คือ การปลูกโดยใช้ต้นกล้า และการปักชำกิ่ง ซึ่งจะเลือกใช้กิ่งที่ไม่อ่อน และไม่แก่เกินไป โดยวัฏจักรของกัญชา 1 ต้น จะอยู่ที่ประมาณ 5-6 เดือน

ขณะที่การปลูกด้วยเมล็ดนั้น แม้จะมีอัตราการรอดที่สูง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเมล็ดด้วย ถ้าเป็นเมล็ดใหม่ๆ แช่น้ำไว้คืนเดียว ก็จะเห็นว่ารากงอกแล้ว ซึ่งเราจะทำการปลูกในถาดหลุมประมาณ 15 วัน จากนั้นก็จะทำการย้ายลงกระถางปลูกต่อไป

ซึ่งเมื่อต้นกัญชา มีอายุประมาณ 2 เดือน จะเริ่มมีใบหลัก ซึ่งสามารถเก็บไปปรุงอาหารได้เป็นส่วนแรก โดยสาร TSC ในใบนั้นถือว่ามีน้อยมาก หากนำไปประกอบอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สามารถทำให้เกิดอาการเมาได้ จากนั้นก็จะเริ่มเก็บใบที่เล็กลงไป

กระทั่งสุดท้ายจะเป็นการเก็บดอก ซึ่งวิธีการเก็บดอก ต้องใช้กล้องส่องดูสีของ trichomes บริเวณช่อดอก หากมีสีขาวขุ่น หรือสีเหลืองอำพัน ก็สามารถเก็บ เพื่อส่งไปยังสถานพยาบาลใช้ทางการแพทย์ต่อไป

ขณะที่ลำต้นนั้น ที่ มสท. จะจำหน่ายให้คลินิกกัญชา เพื่อที่จะนำไปทำเป็นลูกประคบ เนื่องจากมีคุณสมบัติ ช่วยเรื่องเกาต์ และไขข้อ

นางสาวธนภร รองจะโปะ ผู้ประสานงานโครงการผลิตกัญชาคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ระบุว่า ตนเป็นคนที่มองกัญชาไม่ดีมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัส พบว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง คือ ผู้ป่วย เรื่องเศรษฐกิจถือว่าเป็นผลพลอยได้

“การเรียกร้องที่จะให้กัญชาเสรี วันหนึ่งคนจะสูบกัญชาเต็มบ้านเต็มเมือง จากมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็จะกลายเป็นหญ้า ซึ่งกัญชาถ้าใช้ดีก็มีประโยชน์ หากใช้ไม่ดี ก็เสีย เพราะมันเมาได้ คนที่กลั่นกรองกฎหมายในเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะชาญฉลาด เพราะเกษตรกรที่ปลูก จะต้องถูกควบคุมโดยมหาวิทยาลัย ที่ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการ ซึ่งจะไม่ยอมมานำชื่อมาเสียกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น การที่เราจะจับมือกับเกษตรกรเจ้าไหนทำการปลูก ก็จะต้องมีการควบคุม คนที่จะปลูกอย่างถูกกฎหมายก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ ซึ่งทุกคนก็หวังที่จะให้เกณฑ์เข้ากับตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว คนที่จะปลูก ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับเกณฑ์ ถ้าอยู่นอกเกณฑ์ ก็เหมือนแหกคอก ซึ่งตอนนี้หลายคนอยากปลูก แต่ไม่มีองค์ความรู้ที่ดี หากต้นกัญชา ถูกปนเปื้อนด้วยสารโลหะหนัก ก็จะทำให้ขายไม่ได้อยู่ดี”

อย่างไรก็ตาม อยากจะย้ำว่า ชาวบ้าน บุคคลธรรมดา หรือบริษัท จริงๆ ยังไม่สามารถทำการปลูกกัญชาได้ แต่จะปลูกได้ก็คือ รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจ แต่วิสาหกิจ ก็ไม่สามารถไปขออนุญาตปลูกโดยลำพังได้ จะต้องมีพี่เลี้ยง ที่เป็นมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาตก่อน อีกทั้งจะต้องทำให้เห็นว่า ส่วนของ “ช่อดอก” ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ของกัญชา ปลายทาง จะถูกส่งไปที่ไหน

ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphum

https://www.thairath.co.th/news/local/2067048

This topic was modified 3 years ago by thanunchai
 
Posted : 10/04/2021 4:46 pm
Share: