สโนว์ไวต์ กับ คนแคระทั้งเจ็ด

วรรณกรรม

สโนว์ไวต์ หรือ เจ้าหญิงหิมะขาว (เยอรมัน: Schneewittchen; Schneeweißchen, อังกฤษ: Snow White) เป็นชื่อของเทพนิยายอันโด่งดังในยุโรป และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เทพนิยายเรื่องนี้ตั้งชื่อขึ้นตามตัวเอกของเรื่อง โดยดังเดิมเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ได้รับการเล่าขานกันมาต่าง ๆ กัน แต่เทพนิยายเรื่องสโนว์ไวต์ที่เรารู้จักกันดีที่สุด มาจากบทประพันธ์ในภาษาเยอรมันของ พี่น้องตระกูลกริมม์ โดยพี่น้องตระกูลกริมม์ได้เพิ่มตัวละครส่วนประกอบที่ทำให้เรื่องราวน่าสนใจยิ่งขึ้น อาทิ กระจกวิเศษ และ คนแคระทั้งเจ็ด เป็นต้น ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1937 ทางดิสนีย์ได้ดัดแปลงเทพนิยายเรื่องนี้ในรูปแบบภาพยนตร์การ์ตูน โดยใช้ชื่อว่า สโนว์ไวต์กับคนแคระทั้งเจ็ด เหตุที่ทางดิสนีย์เลือกใช้ชื่อนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับเทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์ เรื่องสโนว์ไวต์กับดอกกุหลาบแดง โดยในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สโนว์ไวต์กับคนแคระทั้งเจ็ด เป็นครั้งแรกที่มีการตั้งชื่อให้แก่คนแคระทั้งเจ็ด

เรื่องย่อ

สโนว์ไวต์คือเจ้าหญิงแสนงามผู้ถูกราชินีใจร้ายกลั่นแกล้งให้ทำงานหนักเพราะเกรงว่าสโนว์ไวต์จะงดงามกว่านาง (หลังจากพ่อแม่ที่ตายไป) ทุกวันราชินีจะเฝ้าถามกระจกวิเศษว่าใครงามเลิศในปฐพี และกระจกก็จะตอบกลับว่าพระนางงดงามที่สุด แต่ทว่าสิ่งที่พระนางกลัวที่สุดก็เกิดขึ้นเมื่อสไวต์ได้กลายเป็นหญิงผู้งดงามที่สุดในปฐพี

ด้วยความริษยาราชินีเรียกนายพรานเข้าเฝ้าและบังคับให้เขาฆ่าสโนว์ไวต์ทิ้งแล้วควักเอาหัวใจใส่กล่องมายืนยันพระกับนาง แต่ทว่านายพรานไม่อาจทำร้ายเจ้าหญิงได้ เขาปล่อยเธอไปและนำหัวใจหมูมาให้ราชินีแทน

สโนว์ไวต์วิ่งหนีเข้าไปในป่าทึบ ต้นไม้ทุกต้นดูราวกับมีชีวิต มันยื่นกิ่งออกมาฉุดรั้งสโนว์ไวต์เอาไว้ เธอรู้ตัวอีกทีก็มานอนร้องไห้อยู่กลางป่า ฝูงสัตว์พากันมุงดูเธอราวกับเป็นสิ่งประหลาด บัดนี้ชีวิตของสโนว์ไวต์ไม่ได้มืดมนอีกแล้วเธอร้องเพลงอยู่กับเพื่อนสัตว์ป่าของเธอ พวกมันพาเธอไปขอที่พักแรมในป่า

สโนว์ไวต์พบกระท่อมหลังเล็ก เธอจึงถือวิสาสะเข้าไปทำความสะอาดที่นั่นและทำอาหารไว้ เผื่อว่าเจ้าของกระท่อมจะเห็นใจและให้เธอพักด้วย และเผลอหลับไปที่นอกบ้าน คนแคระตัวเล็กๆทั้งเจ็ดคนเดินกลับมาจากทำงานที่เหมืองและพบว่าบ้านตนมีผู้บุกรุกจึงเข้าไปดูว่าเป็นใคร แล้วก็ต้องตะลึงเมื่อเห็นหญิงสาวแสนงามนามสโนว์ไวต์และอนุญาตให้เธออยู่ด้วย

ที่พระราชวังราชินีถามกระจกเพื่อให้แน่ใจว่าตนงดงามที่สุด พระนางถึงกับโกรธจัดเมื่อรู้ว่าสโนว์ไวต์ยังไม่ตายโดยอาศัยอยู่กับพวกคนแคระที่กระท่อมในป่า พระนางวิ่งลงไปที่คุกใต้ดินและปรุงยาพิษเพื่อกำจัดสโนว์ไวต์ด้วยพระองค์เอง แอปเปิ้ลสีแดงสดถูกนำมาเคลือบด้วยยาพิษ ยาพิษที่เมื่อสโนว์ไวต์กินแล้วจะต้องหลับเป็นตายไม่มีสิ่งใดปลุกนางจากนิทราได้เว้นไว้แต่จุมพิตแรกแห่งรักแท้

ราชินีปลอมตัวเป็นหญิงชราแม่ค้าเร่ ทำทีไปขายแอปเปิ้ลให้สโนว์ไวต์ นางใช้มารยาหลอกให้สโนว์ไวต์กินแอปเปิ้ลจนสำเร็จและหลบหนีไป พวกคนแคระกลับมาดูสโนว์ไวต์และแต่ไม่อาจฝังร่างเธอได้ พวกเขาสร้างโลงแก้วบรรจุร่างสโนว์ไวต์เอาไว้และมาเยี่ยมเธอทุกวัน

วันหนึ่งเจ้าชายรูปงามผ่านมาพบสโนว์ไวต์และจุมพิตสโนว์ไวต์และแล้วคำสาปก็สูญสลายไป เจ้าชายพาสโนว์ไวต์ขี่ม้าขาวไปที่ปราสาทของพระองค์แล้วทั้งคู่ก็ครองรักกันอย่างมีความสุข ตลอดกาล

หมายเหตุ

เทพนิยายเรื่องสโนว์ไวต์ในภาษาอื่น ๆ มีบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น ในบางชาติได้แต่งบทให้คนแคระทั้งเจ็ดเป็นโจร หรือให้ราชินีพูดคุยกับดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ แทนกระจกวิเศษ เป็นต้น ในบทประพันธ์ฉบับอัลบาเนีย รวบรวมโดย โยฮันน์ จอร์จ ฟอน ฮาห์น และตีพิมพ์เป็นภาษากรีก และภาษาอัลบาเนีย เมื่อปี ค.ศ. 1864 สโนว์ไวต์อาศัยอยู่กับมังกร 40 ตัว และสโนว์ไวต์หลับไปเพราะใส่แหวนที่ต้องมนต์สะกด ด้วยเหตุนี้ เรื่องสโนว์ไวต์จึงถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเทพนิยายรหัส 709 ซึ่งเป็นเทพนิยายที่ตัวเอกของเรื่องหลับไปเพราะสวมแหวนทั้งสิ้น ส่วนต้นแบบของเรื่องสโนว์ไวต์ที่แท้จริงนั้นยังไม่สามารถหาของสรุปได้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นเทพนิยายที่ถูกแต่งขึ้นในช่วงยุคกลาง (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 11-14)

ข้อมูลอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/สโนว์ไวต์