ฟ้องด้วยภาพ : ก.ไกรศิรกานท์

นิยายสั้นเสียดสีสังคม (Satirize the Society)

บรรยากาศในงานนำเสนอนิทรรศการคึกครื้นกว่าที่ครูสาวนึกเอาไว้มากทีเดียว ทั้ง ๆ ที่เธอก็คิดว่าเธอออกจากโรงแรมแต่เช้าแล้ว ทว่าเมื่อไปถึงสถานที่แห่งนั้น เธอกลับพบว่ามีกลุ่มคนจำนวนมากเดินขวักไขว่วุ่นวายรอคอยเธออยู่ก่อนแล้ว

บางคนกำลังซ้อมบทพูด… อ่อ เรียกว่า ‘บทนำเสนอ’ น่าจะถูกกว่า

บางคนก็กำลังเอาป้ายนิเทศมาตั้งโชว์

บางคนก็กำลังแต่งหน้าทาปาก

ขึ้นอยู่กับว่า ใครคนไหนจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน…

ศิริมาศเดินไปยังมุมนิทรรศการของตัวเอง ทุกอย่างยังคงถูกจัดวางเอาไว้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อยเฉกเช่นเมื่อวานนี้ไม่มีผิดเพี้ยน ไม่มี ‘มือดี’ ที่ไหน มาหยิบย้ายถ่ายยกเอาผลงานของเธอไปอย่างที่เธอแอบนึกระแวง

เวลายังเหลืออีกเกือบชั่วโมง กว่าประธานในงานจะเดินทางมาทำพิธีเปิด ครูสาวจึงล้วงโทรศัพท์ในกระเป๋าถือขึ้นมาเก็บภาพมุมต่าง ๆ ของนิทรรศการเป็นการฆ่าเวลา

แล้วโฟกัสก็ไปจับภาพผู้หญิงคนนั้นเข้าโดยบังเอิญ หล่อนกำลังก้าวลงจากรถพร้อมกับเสียงบ่นวุ่นวาย

“คุณก็รีบ ๆ ลงมาช่วยฉันซิ จะจัดทันไหมเนี่ย? คนที่มาเปิดงานน่ะ ท่าน ผอ.เขตเลยนะ ไม่ใช่มรรคนายกที่วัด”

ร่างที่ก้าวตามลงมาจากรถเป็นชายวัยเลยกลางคนไปแล้ว ทว่ายังดูดีด้วยชุดที่สวมใส่ ศิริมาศนึกเดาเอาไว้ในใจว่าเขาคงจะเป็นคนใจเย็นไม่น้อย ถึงได้หอบหิ้วเอาป้ายนิเทศลงจากรถไปจัดแสดงให้ภรรยาของเขาโดยไม่ปริปากบ่นสักคำ

“รายละเอียดอื่น ๆ คุณจัดเองก็แล้วกัน ผมรีบ”

จะด้วยเวรหรือกรรมอันใดศิริมาศก็ไม่อาจทราบได้ ที่ทำให้ผู้หญิงคนนั้นได้มุมจัดป้ายนิทรรศการตรงบริเวณข้าง ๆ เธอ

เธอเห็นผู้ชายอายุคราวลุงคนนั้นยิ้มให้เธอตามมรรยาท ก่อนจะก้าวฉับ ๆ รี่กลับไปที่รถของเขา

“แหม จะช่วยหน่อยก็ไม่ได้” ผู้หญิงคนนั้นพูดเสียงดังพอให้เธอได้ยิน

ศิริมาศหันไปหาผู้หญิงคนนั้น นึกตงิด ๆ อยู่ครามครันว่าประโยคที่เจ้าหล่อนพูดออกมาลอย ๆ นั้น เจ้าหล่อนจงใจจะว่าให้สามีของหล่อนหรือตั้งใจจะพูดให้เธอได้ยินกันแน่

“เอ่อ ครูมีอะไรให้หนูช่วยไหมคะ”

ศิริมาศจึงตัดสินใจถามออกไปเบา ๆ พอได้ยินเช่นกัน พอได้พูดขันอาสาออกไปแล้ว ศิริมาศก็ให้นึกสบายใจขึ้นมาบ้าง

“อ่อ ไม่มีแล้วล่ะค่ะคุณน้อง ขอบคุณมากนะคะ บอร์ดของพี่ไม่มีอะไรมาก ของแบบนี้มันอยู่ที่ประสบการณ์ค่ะ คุณน้องว่าจริงมั้ยคะ?”

เท่าที่มองดู … แผ่นป้ายแสดงนิทรรศการของครูอาวุโสท่านนั้นก็ไม่มีอะไรเลยจริง ๆ มันกลวง โล่ง และว่างเปล่าไปหมดทั้งความหมายโดยตรงและโดยนัย !

ศิริมาศไม่ทันได้ตอบคำถามนั้น เพราะคำถามต่อมาของเจ้าหล่อนทำให้ครูสาวอย่างเธอต้องหัวตื้อไปพักใหญ่อยู่เหมือนกัน

“แล้วนี่หนูเฝ้าให้ใครล่ะคะ? เจ้าของผลงานไปไหนเสียล่ะ?”

“หนูนี่แหละค่ะ ที่เป็นเจ้าของผลงาน”

ครูอาวุโสท่านนั้นทำหน้าไม่ค่อยเชื่อถือคำพูดของศิริมาศเท่าไรนัก นี่ถ้าเจ้าหล่อนสวมแว่นสายตาอยู่ ศิริมาศก็เชื่อแน่ว่าครูคนนั้นคงจะมองลอดแว่นออกมาเหมือนกับคุณครูในยุคสี่สิบกว่าปีที่แล้วตามที่เธอเคยเห็นในละครโทรทัศน์เป็นแน่

“เหรอ หนูเป็นครูอัตราจ้างหรือคะ”