ปลาทองเทวดา : ก.ไกรศิรกานท์

นิยายสั้นแนวชีวิต ดราม่า (Drama) นิยายสั้นแนวแฟนตาซี (Fantasy)

ณ เวิ้งฟ้ากว้างซึ่งมองไม่เห็นจุดที่สิ้นสุดนั้น กลุ่มเมฆขาวราวสำลีกลุ่มหนึ่งกำลังวิ่งหยอกล้อเล่นกันอย่างสนุกสนาน ราวกับว่าพวกมันเป็นเด็กน้อยวัยซุกซนที่มีชีวิตก็ไม่ปาน

สุริยเทพเทรัศมีสีโอภาสพาดผ่านเศวตเมฆินทร์คณะนั้น จนมองดูเป็นประกายพรายพร่างกลางเวหนน่ายลเมิล วายุเยาว์วิ่งโถมใส่ไล่ตีด้วยนึกครึ้มสนุก ทำให้กลุ่มเมฆซุกซนคณะนั้นกระเจิดกระเจิงหนีแตกกลุ่มกระจัดกระจายกลายร่างเป็นประหนึ่งเศวตบัลลังก์ของไท้ท้าวเทวดาผู้เป็นใหญ่องค์ใดองค์หนึ่งของสรวงสวรรค์กระนั้น

ร่างงามสมสัดส่วนของบุรุษผู้หนึ่งค่อย ๆ ปรากฏองคาพยพขึ้นบนเศวตบัลลังก์ดังกล่าวมาในเบื้องปฐม ตรีรังสีที่แผ่รัศมีออกมาจากร่างทิพย์ไท้องค์นั้น…เปล่งประกายเป็นแสงสีเหลือบเหลืองเรืองรอง เยี่ยมยลมองแล้วรู้สึกสบายตา

“สิปปะยามเทวบุตร”

สุรเสียงทรงประกาศิตนั้นกึกก้อง แม้จะเอื้อนเอ่ยเพียงแผ่วเบาก็ดังประหนึ่งว่าผู้พูดกำลังป้องปากตะโกนใส่รูหูก็ไม่ปาน

“พะย่ะค่ะ” ร่างที่หมอบอยู่แทบบาทบัลลังก์ขานตอบรับโดยไม่ยอมเงยหน้าขึ้นแม้แต่เพียงน้อย

“ท่านแจ้งแก่ใจใช่ฤๅหาไม่? ว่าเราจักเจรจาสิ่งใดแก่ท่าน”

“แจ้งแก่ ‘มนกมล’ ดีพะย่ะค่ะ องค์สุยามเทวราช” [มนกมล ในที่นี้หมายถึง ใจ]

“แล้วท่านจักให้เราทำดังฤๅ?”

“เอ่อ…กระหม่อมมิบังอาจ…”

“เจรจามาเถิด … ในฐานที่ ‘รติศิรายามเทวบุตร’ เป็นสนิทสิเน่หาสิเนหกแห่งท่าน [สิเนหก เพื่อน] เราจึงใคร่ถามทิฐิแห่งท่านก่อนเป็นเบื้องปฐม ว่าท่านมีความปรารถนาจักให้เราทำดังฤๅแก่สิเนหกแห่งท่านผู้นั้น” สุรเสียงอ่อนโยนทว่ากึกก้องกังวานนั้นยังคงสม่ำเสมอ ไม่มีโทสะกรรมเจืออยู่แม้แต่เพียงกระผีกริ้น

“ข้าแด่องค์สุยามเทวราชผู้เป็นใหญ่แห่งยามาสวรรค์…กระหม่อมได้เพียรพยายามตักเตือน ‘รติศิรายามเทวบุตร’ จนเป็นที่สุดพละกำลังแห่งสติปัญญาญาณของกระหม่อมแล้ว ณ ภายภาคหน้าต่อแต่นี้ไป ก็ขอให้ขึ้นอยู่กับสัมมาทิฐิแห่งพระองค์เถิดพะย่ะค่ะ”

“ท่านแม่นมั่นในมนกมลเช่นนั้นฤๅ?”

“พะย่ะค่ะ”

“เราขอขอบใจท่านยิ่งนัก ที่มิทำให้เราผิดหวังในตัวท่าน ปกติวิสัยของทุกชีวิต มิว่าจะเป็นมนุษย์ เทพ หรืออมนุษย์ ย่อมบังเกิดมิจฉาทิฐิขึ้นในมนกมลเสมอ เมื่อมีผู้กล่าวโทษแก่บุคคลอันเป็นที่รักแห่งเขา แต่ท่านมิได้เป็นเช่นนั้น เอาเถิด … เพื่อเห็นแก่คุณงามความดีของท่าน เราจักเรียกรติศิรายามเทวบุตรมาสั่งสอนตักเตือนดูก่อน ด้วยเทพฤๅมนุษย์นั้นอาจพลาดพลั้งผิดไปได้เสมอหากมีความประมาท รติศิรายามเทวบุตรจะกล่าวแก้เช่นไรก็ค่อยพิจารณากันอีกคำรบหนึ่ง … หากเรามีวินิจฉัยเช่นนี้ ท่านจักเห็นเป็นประการใด?”

“เป็นพระเมตตาแด่รติศิรายามเทวบุตรยิ่งนักกระหม่อม” ว่าแล้วสิปปะสุยามเทวบุตรก็ประณตศีรษะศิโรราบลงทันทีที่เอื้อนอรรถอวสาน