ข้างหลังภาพ

วรรณกรรม

ข้างหลังภาพ คือ นวนิยายประพันธ์โดยศรีบูรพา หรือชื่อจริงว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2479 เป็นเรื่องราวของความรักต่างวัย ต่างสถานะ นอกจากเรื่องราวที่กินใจแล้ว ภาษาที่ใช้ในเรื่องเป็นภาษาที่งดงาม มีวลีที่เป็นที่ชื่นชอบมากมาย นวนิยายเรื่องนี้เมื่อรวมเล่มได้รับการตีพิมพ์ซ้ำถึง 47 ครั้ง ยังได้รับการยกย่องด้วย ความงามในเชิงวรรณศิลป์ และถูกนำไปแสดงเป็นละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมถึงละครเวที ในรูปแบบละครเพลงอีกด้วย

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนเรื่องนี้โดยอาศัยประสบการณ์จริงที่เคยไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2479 และจากความคุ้นเคยกับเจ้านายในราชสกุลวรวรรณ หลายพระองค์ที่เป็นพี่น้องกับ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าตัวละคร หม่อมราชวงศ์กีรติ น่าจะถอดแบบมาจากหม่อมเจ้าบรรเจิดวรรณวรางค์ วรวรรณ บางคนคาดว่าถอดแบบมาจากพระนางเธอลักษมีลาวัณ แต่ ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของผู้แต่งระบุว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ข้างหลังภาพ ตีพิมพ์ตอนแรกในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ต่อเนื่องจนจบบทที่ 12 ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2480 ถึงตอนที่ ม.ร.ว.กีรติ ลาจากนพพรที่ท่าเรือโกเบ โดยเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อรวมพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักงานนายเทพปรีชา ศรีบูรพาได้แต่งเพิ่มอีก 7 บท รวมเป็น 19 บท โดยตอนที่แต่งขึ้นใหม่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ศรีบูรพาได้เขียนเรื่องสั้นชื่อ “นพพร-กีรติ” เป็นจดหมายรัก ที่เขียนถึงระหว่างกัน ตีพิมพ์ในหน้า 255 ถึง 273 ของหนังสือรวมเรื่องสั้น “ผาสุก” ของสำนักพิมพ์อุดม และได้นำไปรวมเล่มใน ข้างหลังภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ในเวลาต่อมา

เรื่องย่อ ข้างหลังภาพ

นพพร และ หม่อมราชวงศ์กีรติ พบกันครั้งแรกที่สถานีรถไฟโตเกียว นพพรมีอายุ 22 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยริคเคียว ขณะที่หม่อมราชวงศ์กีรติ หญิงวัย 35 มาฮันนีมูนกับพระยาอธิการบดีผู้เป็นสามีที่แก่คราวพ่อ ทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทกับพ่อของนพพร จึงขอร้องให้นพพรพาหม่อมราชวงศ์กีรติเที่ยวญี่ปุ่น เพราะตัวท่านเองแก่เกินกว่าจะไปไหนต่อไหนได้สะดวก แต่ก็ยังอยากให้หม่อมราชวงศ์กีรติสนุกกับการอยู่ญี่ปุ่น และนั่นเป็นโอกาสให้นพพร เด็กหนุ่มที่ไม่เคยรู้จักความรักมาก่อนได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้หญิงที่สวยสง่า กิริยาวาจาแช่มช้อยเป็นผู้ดี

แม้เธอจะสูงวัยกว่า แต่เมื่อยิ่งได้ใกล้ชิด นพพรก็ยิ่งหลงรักเทอดทูนหม่อมราชวงศ์กีรติ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าเธอแต่งงานแล้ว นพพรเฝ้าถามหม่อมราชวงศ์กีรติว่าทำไมเธอจึงแต่งงานกับ ชายรุ่นพ่อ ทั้ง ๆ ที่เธอทั้งสวยสง่า ฉลาด และฐานะเดิมก็ดีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งไม่ได้ถูกใครบังคับและไม่ได้รักท่านเจ้าคุณด้วย

ทุกครั้งที่นพพรถาม หม่อมราชวงศ์กีรติเลี่ยงที่จะตอบ จนวันหนึ่ง เขาพาเธอไปเที่ยวมิตาเกะ หม่อมราชวงศ์กีรติที่ตามปกติจะ วางตัวสง่างาม กลับกลายเป็นสาวน้อย ผู้ร่าเริงท่ามกลางแมกไม้ สายลม และความหลังที่เป็นควมาลับของหม่อมราชวงศ์กีรติจึงถูกเปิด และทุกครั้งที่นพพร ถามว่าหม่อมราชวงศ์กีรติรักเขาไหม คุณหญิงกีรติไม่เคยตอบตรงคำถามเลย ส่วนนพพรยืนยันว่า “ผมจะรักคุณหญิง ตราบชั่วฟ้าดินสลาย”

6 ปีล่วงไป นพพรสำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็กลับสยาม ในขณะนี้หม่อมราชวงศ์กีรติเป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบ เขาทั้งสองคนได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่นพพรรู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น

เวลา 6 ปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของนพพรเด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มญี่ปุ่นที่ไม่ใคร่จะคิดถึงใครจะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น

ครั้นแล้วนพพรก็แต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ให้เมื่อครั้งก่อนไปศึกษาอยู่ที่ญี่ปุ่น เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน นพพรได้ทราบว่าหม่อมราชวงศ์กีรติได้เจ็บหนักด้วยวัณโรค และอยากพบเขา จนแพทย์และพยาบาลรู้สึกว่าควรจะมาตามเขาให้ไปพบเพื่อให้คนไข้ได้สงบจิตใจในวาระสุดท้าย

นพพรก็ไปเยี่ยมและหม่อมราชวงศ์กีรติก็ให้ภาพเขียนที่ระลึกถึงสถานที่ให้กำเนิดความรักแก่เขาทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพวาดโดยฝีมือของเธอเอง พร้อมด้วยคำตัดพ้อบางประโยคเป็นที่สะกิดใจนพพรให้ระลึกถึงความหลังและหวนคิดเสียดายอาลัยคนรักคนแรกของตน ครั้นแล้วหม่อมราชวงศ์กีรติสตรีผู้อาภัพในเรื่องรักก็ถึงแก่กรรมใน 7 วันต่อมา

วลีเด็ดจากหนังสือและภาพยนตร์

ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก
— หม่อมราชวงศ์กีรติ

 

จะเป็นอะไรก็ตาม จงเป็นเสียอย่างหนึ่ง จะเป็นอะไรมิใช่ปัญหา สำคัญอยู่ที่ว่าจงเป็นอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม
— หม่อมราชวงศ์กีรติ

 

ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั้นแล้วก็ตายที่นั้น แต่ของอีกคนหนึ่งกำลังจะรุ่งโรจน์ในร่างที่กำลังจะแตกดับ
— หม่อมราชวงศ์กีรติ

 

เพราะความจริงเท่านั้นเป็นคำพิพากษาโชคชะตาชีวิตของเรา
— หม่อมราชวงศ์กีรติ

 

คนเรามีข้อคิดเห็นในเรื่องความรักแตกต่างกันไป แต่ฉันก็เห็นด้วยกับที่เธอว่า ความรักบีบคั้นทรมานใจเรามาก และในบางคราวก็เหลือที่จะทนทาน เธอทำถูกต้องอย่างคนทั้งหลายทั่วไปแล้ว ที่ถอนตัวพ้นออกมาจากความทรมานได้และสามารถลืมความหลังได้ด้วย แต่คนโง่ ๆบางคนทำไม่ได้อย่างเธอ
— หม่อมราชวงศ์กีรติ

อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/ข้างหลังภาพ